12,292 view

การจดทะเบียนสมรส

สถานกงสุลใหญ๋ฯ เปิดให้บริการจดทะเบียนสมรสแก่คนไทยที่อาศัยอยู่ใน 10 รัฐ (คอนเนทิคัต เมน แมสซาชูเซตส์ นิวแฮมป์เชอร์ นิวเจอร์ซีย์ นิวยอร์ก โอไฮโอ เพนซิลเวเนีย โรดไอแลนด์ และเวอร์มอนต์) ของสถานกงสุลใหญ่ฯ

การจดทะเบียนสมรสภายใต้กฎหมายไทย

  1. บุคคลสัญชาติไทยที่พำนักในต่างประเทศ และประสงค์จะจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยสามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสได้ที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลไทยซึ่งเป็นนายทะเบียนราษฎรในต่างประเทศซึ่งมีเขตรับผิดชอบตามที่ได้รับมอบหมายแตกต่างกัน
  2. สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์กเป็นนายทะเบียนราษฎรสำหรับผู้ที่พำนักในรัฐเขตกงสุล 10 รัฐ ได้แก่ คอนเนทิคัต เมน แมสซาชูเซตส์ นิวแฮมป์เชอร์ นิวเจอร์ซีย์ นิวยอร์ก โอไฮโอ เพนซิลเวเนีย โรดไอแลนด์ และเวอร์มอนต์
  3. ก่อนที่จะมาจดทะเบียนสมรสภายใต้กฎหมายไทย หากคู่ชายและหญิงได้จดทะเบียนสมรสภายใต้กฎหมายท้องถิ่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และการสมรสนั้นได้ทำในประเทศสหรัฐฯ แล้ว ถือว่าเป็นการสมรสที่สมบูรณ์และชอบด้วยกฎหมายไทยด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เป็นไปตามนัยมาตรา 1459 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อย่างไรก็ดี ควรนำเอกสารรับรองการจดทะเบียนสมรสภายใต้กฎหมายท้องถิ่นนั้น ต้องไปผ่านการรับรองจาก the Office of Authentications, U.S. Department of State ก่อน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่) หลังจากนั้น ต้องแปลเป็นภาษาไทยและนำมารับรองเอกสารที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ เพื่อใช้ยืนยันการขอเปลี่ยนแปลงคำนำหน้าชื่อและนามสกุลกับสำนักงานเขต/อำเภอ/เทศบาลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เนื่องจากการขอเปลี่ยนแปลงรายการดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ได้
  4. สถานกงสุลใหญ่ฯ ไม่สามารถรับจดทะเบียนสมรสหรือรับรองเอกสารที่เป็นคำแปลภาษาไทยแก่ผู้ร้องที่จดทะเบียนสมรสชายกับชาย/หญิงกับหญิงได้เนื่องจากกฎหมายไทยยังไม่รับรองการจดทะเบียนสมรสเพศเดียวกัน

คุณสมบัติของผู้มาจดทะเบียน

  1. ผู้มาจดทะเบียนต้องเป็นคู่ชายและหญิง (เนื่องจากกฎหมายไทยยังไม่มีการรองรับการจดทะเบียนสมรสเพศเดียวกัน) 
  2. ชายและหญิงต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และไม่อยู่ในระหว่างการสมรสกับผู้อื่น
  3. ชายและหญิงเป็นคนถือสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไทยและอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนต่างชาติ
  4. หากคู่สมรสฝ่ายชายมืได้มีสัญชาติไทย ฝ่ายชายจะต้องมีหนังสือรับรองความเป็นโสด
  5. หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นข้าราชการไทย หรือเป็นนักเรียนในความดูแลของสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา หรือของสำนักงานอื่นของส่วนราชการไทย จะต้องยื่นหนังสืออนุมัติให้จดทะเบียนสมรสจากสำนักงานต้นสังกัดมาแสดง
  6. หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือทั้งสองฝ่ายเคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน ฝ่ายที่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนจะต้องมีใบสำคัญการหย่ามาแสดง
  7. หากฝ่ายหญิงเคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน โดยได้หย่าขาดจากคู่สมรสเดิมแล้ว (1) จะต้องเปลี่ยนเป็นชื่อสกุลเดิมก่อนสมรสในหนังสือเดินทางและทะเบียนราษฎร ก่อนจะจดทะเบียนสมรสใหม่ ซึ่งบังคับใช้กับคนที่จดทะเบียนสมรสตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2546 (2) จะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่ได้คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น หรือมีใบรับรองแพทย์รับรองว่าไม่ได้มีครรภ์ หรือมีคำสั่งศาลไทยให้สมรสได้     
  8. ผู้มาจดทะเบียนทั้งสองฝ่ายต้องมาจดทะเบียนสมรสด้วยตนเองต่อหน้านายทะเบียน พร้อมพยาน 2 คน (ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสทางไปรษณีย์ได้)

คำนำหน้าชื่อหญิงไทยหลังการสมรส

หญิงไทยที่จดทะเบียนสมรสแล้ว จะสามารถใช้คำนำหน้านามว่า “นาง” หรือ “นางสาว” ได้ตามความสมัครใจ โดยให้แจ้งต่อนายทะเบียนตามกฎหมาย (เจ้าหน้าที่กงสุล) ทั้งนี้ เป็นไปตามความในพระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ย้อนหลังไปถึงหญิงทุกคนที่จดทะเบียนสมรสก่อนวันที่พระราชบัญญัติฯ มีผลบังคับใช้ โดยนายทะเบียนจะบันทึกเพิ่มเติมในหน้าบันทึกของทะเบียนสมรสระบุว่า ฝ่ายหญิงมีความประสงค์จะใช้คำนำหน้านามว่า “นาง” หรือ “นางสาว”

การใช้ชื่อสกุลหลังการสมรส  (เป็นไปตามพระราชบัญญัติชื่อบุคคล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2548)

  1. คู่สมรสสามารถใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นชื่อรองได้เมื่อได้รับความยินยอมจากฝ่ายนั้นแล้ว (ไม่สามารถรวมชื่อสกุลทั้งสองเข้าด้วยกันได้)
  2. คู่สมรสมีสิทธ์ใช้ชื่อสกุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามที่ตกลงกัน หรือต่างฝ่ายต่างใช้ชื่อสกุลเดิมของตนได้ การตกลงดังกล่าวนี้จะกระทำเมื่อมีการสมรสหรือในระหว่างสมรสก็ได้ และคู่สมรสจะตกลงเปลี่ยนแปลงข้อความในวรรคหนึ่งภายหลังก็ได้
  3. เมื่อการสมรสสิ้นสุดลงด้วยการหย่า หรือศาลพิพาษาให้เพิกถอนการสมรส ให้ฝ่ายที่ใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งกลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตน
  4. เมื่อการสมรสสิ้นสุดด้วยความตาย ให้ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่และใช้ชื่อสกุลของอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิใช้ชื่อสกุลนั้นต่อไปได้ แต่เมื่อจะสมรสใหม่ ให้กลับไปใช้ชื่อสกุลเดิมของตน

ข้อควรปฏิบัติภายหลังการจดทะเบียนสมรสแล้ว

  • ฝ่ายหญิงควรแก้ไขคำนำหน้าชื่อ ชื่อสกุล (การแก้ไขรายการบุคคล) ในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรให้เรียบร้อยก่อนที่จะทำบัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางด้วยข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้ปรับปรุงแล้วในโอกาสต่อไป
  • เจ้าตัวจะต้องนำเอกสารยืนยันการจดทะเบียนสมรสไปประกอบการยื่นคำร้องขอแก้ไขที่สำนักงานเขต/อำเภอ/เทศบาล หากไม่สะดวกที่จะเดินทางกลับไปดำเนินการที่ไทยด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นที่บรรลุนิติภาวะดำเนินการแทนได้ โดยให้มาทำหนังสือมอบอำนาจด้วยตนเองที่สถานกงสุลใหญ่ฯ (อ่านรายละเอียดการทำหนังสือมอบอำนาจที่นี่)

เอกสารประกอบสำหรับการขอจดทะเบียนสมรส

  • คำร้องนิติกรณ์จำนวน 1 ชุด (ดาวน์โหลด)
  • คำร้องขอจดทะเบียนสมรส 1 ชุด (ดาวน์โหลด) และแบบฟอร์มทะเบียนสมรส (ดาวน์โหลด)
  • หนังสือตกลงการใช้ชื่อสกุล (กรณีที่ต้องการใช้นามสกุลของฝ่ายชาย) (ดาวน์โหลด)
  • บัตรประจำตัวประชาชนไทยและหนังสือเดินทางไทยที่มีอายุใช้งานของฝ่ายที่มีสัญชาติไทย และ Identification Card และ Passport ที่มีอายุใช้งานของคู่สมรสที่เป็นคนต่างชาติ 
  • กรณีที่คู่สมรสเป็นชาวต่างชาติจะต้องมีหนังสือรับรองความเป็นโสดมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่
  • ต้นฉบับทะเบียนหย่า (กรณีที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายเคยจดทะเบียนสมรสมาก่อนและได้หย่าขาดแล้ว)
  • ใบรับรองแพทย์ระบุว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ (กรณีฝ่ายหญิงหย่าขาดมาน้อยกว่า 310 วัน ณ วันที่ยื่นขอจดทะเบียนสมรสใหม่)
  • ใบเปลี่ยนชื่อและ/หรือนามสกุล (หากมีการเปลี่ยนชื่อและ/หรือนามสกุล) 
  • คู่สมรสจะต้องนำพยานบุคคลจำนวน 2 ราย (เป็นคนไทยและต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนไทยที่มีอายุใช้งานมาเป็นหลักฐานด้วย) เพื่อลงลายมือชื่อเป็นพยานในวันสมรส

ขั้นตอนการขอจดทะเบียนสมรส

  1. กรุณาส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อนที่ e-mail: [email protected]
  2. เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว (ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์) ท่านจึงสามารถนัดจองคิวเข้ารับบริการกับเจ้าหน้าที่โดยตรงที่หมายเลขโทรศัพท์ 212-754-1770 ext. 306 

ค่าธรรมเนียม

  • ไม่มีค่าธรรมเนียม

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

โทร. 212-754-1770 ext. 306

(ในวันและเวลาทำการของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก)  

หรือ e-mail : [email protected]