26,683 view

การขอสูติบัตรไทย (แจ้งเกิด)

 

สถานกงสุลใหญ๋ฯ เปิดให้บริการทำสูติบัตรแก่เด็กไทยที่เกิดในเขตกงสุล 10 รัฐ (คอนเนทิคัต เมน แมสซาชูเซตส์ นิวแฮมป์เชอร์ นิวเจอร์ซีย์ นิวยอร์ก โอไฮโอ เพนซิลเวเนีย โรดไอแลนด์ และเวอร์มอนต์) ของสถานกงสุลใหญ่ฯ เท่านั้น

ผู้ร้องต้องเดินทางมายื่นคำร้องขอสูติบัตรด้วยตนเองที่สถานกงสุลใหญ่ฯ 

การแจ้งเกิดและขอสูติบัตรไทยสำหรับเด็กที่เกิดในต่างประเทศ

  • สถานที่รับแจ้งเกิด สถานที่รับแจ้งเกิดจะต้องอยู่ในท้องที่ที่เด็กเกิดเท่านั้น สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลไทยเป็นนายทะเบียนราษฎรในต่างประเทศซึ่งมีเขตรับผิดชอบตามที่ได้รับมอบหมายแตกต่างกัน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์กเป็นนายทะเบียนราษฎรซึ่งมีอำนาจรับแจ้งเกิดเด็กเฉพาะในเขตกงสุล 10 รัฐ ได้แก่ คอนเนทิคัต เมน แมสซาชูเซตส์ นิวแฮมป์เชอร์ นิวเจอร์ซีย์ นิวยอร์ก โอไฮโอ เพนซิลเวเนีย โรดไอแลนด์ และเวอร์มอนต์
  • ผู้มีหน้าที่แจ้งเกิด บิดาหรือมารดาของเด็ก กรณีบิดาหรือมารดาไม่สามารถมาแจ้งเกิดได้ด้วยตนเอง สามารถมอบหมายให้ญาติหรือคนสนิทที่รับทราบการเกิดของเด็กมาแจ้งเกิดแทนได้
  • ระยะเวลาการแจ้งเกิด สามารถแจ้งเกิดได้ตามความเหมาะสม (แม้จะอายุมากกว่า 20 ปีบริบูรณ์หรือบรรลุนิติภาวะแล้ว) สามารถมาแจ้งดำเนินการขอสูติบัตรด้วยตัวเองได้ตามปกติ
  • การได้สัญชาติไทยของเด็ก เด็กที่เกิดในต่างประเทศโดยที่มารดามีสัญชาติไทย ย่อมได้สัญชาติไทยตามมารดาไม่ว่าบิดาจะเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ตาม และถ้ามารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย บิดาเป็นคนต่างชาติแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เด็กย่อมได้สัญชาติไทยตามกฏหมายด้วย สำหรับเด็กที่เกิดจากมารดาที่ไม่ใช่สัญชาติไทยซึ่งไม่จดทะเบียนสมรสกับบิดาที่มีสัญชาติไทย เด็กย่อมไม่ได้สัญชาติไทย แต่หากจดทะเบียนสมรสกัน เด็กย่อมได้สัญชาติไทย

สัญชาติบิดา

สัญชาติมารดา

สถานภาพสมรส

สัญชาติบุตร

ไทย

ไทย

จดทะเบียน

ไทย

ไทย

ไทย

ไม่จดทะเบียน

ไทย

ไทย

อื่น ๆ

จดทะเบียน

ไทย

ไทย

อื่น ๆ

ไม่จดทะเบียน

ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

อื่น ๆ

ไทย

จดทะเบียน

ไทย

อื่น ๆ

ไทย

ไม่จดทะเบียน

ไทย

 

  • การใช้นามสกุลของเด็ก
    • กรณีบิดามารดาจดทะเบียนสมรส 
      • เด็กมีสิทธิใช้นามสกุลบิดา
      • เด็กสามารถใช้นามสกุลมารดา ทั้งนี้ บิดาและมารดาต้องให้ความยินยอม โดยทั้งสองฝ่ายต้องให้ปากคำต่อเจ้าหน้าที่กงสุลเพื่อบันทึกปากคำและเหตุผลไว้เป็นหลักฐานประกอบ
    • กรณีบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรส
      • โดยที่กฎหมายกำหนดให้เด็กที่เกิดมาเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาฝ่ายเดียว เด็กย่อมมีสิทธิใช้นามสกุลของมารดา หากมารดาประสงค์จะให้บุตรใช้นามสกุลที่มิใช่นามสกุลมารดา จำเป็นต้องมาสอบปากคำเพิ่มเติมพร้อมกับผู้ที่ยินยอมให้ใช้นามสกุลต่อหน้านายทะเบียน 

หมายเหตุ : การใช้นามสกุลของเด็กจะต้องใช้นามสกุลตามบิดาหรือมารดาเท่านั้น ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่สามารถนำนามสกุลของบิดาและมารดามารวมกันแล้วตั้งเป็นนามสกุลใหม่ หรือตั้งนามสกุลใหม่ขึ้นมาเอง

ข้อควรพิจารณาเมื่อได้รับสูติบัตรแล้ว

  • เอกสารต้นฉบับสูติบัตรจะออกให้เพียง 1 ใบเท่านั้น ดังนั้น ต้องเก็บรักษาให้ดี และถ้ามีโอกาสควรพาเด็กเดินทางกลับเมืองไทย เพื่อทำบัตรประจำตัวประชาชนให้เรียบร้อย (อายุครบ 7 ปีบริบูรณ์)             
  • ควรขอทำหนังสือเดินทางไทยเล่มแรก เพื่อพาเด็ก (อายุ 7 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) กลับไปทำบัตรประจำตัวประชาชนที่ไทย (อ่านรายละเอียดการขอทำหนังสือเดินทางสำหรับผู้มีอายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ได้ที่นี่)
  • เมื่อทำใบสูติบัตรไทยแล้ว เด็กจะได้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ (สำหรับเด็กผู้ชาย จะต้องไปดำเนินการเข้ารับการเกณฑ์ทหารที่ประเทศไทย โดยเมื่ออายุ 16 ปี จะต้องรับหมายเกณฑ์ทหาร อายุ 20 ปี จะต้องไปรายงานตัวกับสัสดีที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ และเมื่ออายุครบ 21 ปี จะต้องไปเข้ารับคัดเลือกการเกณฑ์ทหาร มิเช่นนั้นจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497)
  • เด็กที่เติบโตและได้ทำงานกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งกำหนดให้ต้องมีสัญชาติอเมริกันเพียงสัญชาติเดียวเท่านั้น เช่น งานที่ United States Secret Service หรืองานอื่น ๆ ที่ทางการสหรัฐอเมริกากำหนด ถ้าเด็กมี 2 สัญชาติ จะต้องมาดำเนินการสละสัญชาติ มิเช่นนั้นเด็กอาจจะสูญเสียโอกาสในการทำงานกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

เอกสารประกอบสำหรับการขอสูติบัตรไทย

  1. คำร้องนิติกรณ์จำนวน 1 ชุด (ดาวน์โหลด)
  2. แบบฟอร์มคำร้องขอจดทะเบียนเกิด 1 ชุด (ดาวน์โหลด)
  3. สูติบัตรสหรัฐฯ หรือ US Birth Certificate พร้อมสำเนา 1 ชุด โดยต้องนำสูติบัตรไปผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก่อน โดยมีขั้นตอนดำเนินการ (สามารถดำเนินการได้ทางไปรษณีย์) ดังนี้
    • ขั้นตอนที่ 1 นำสูติบัตรไปผ่านการรับรองจาก County Clerk ของรัฐที่ออกสูติบัตรให้ 

(ตัวอย่างเมื่อผ่านการรับรองจาก County Clerk, New York)

หมายเหตุ : การรับรองเอกสารของ County Clerk ในบางรัฐจะต้องผ่านหน่วย County Clerk ก่อน ไม่เช่นนั้น หน่วยงานในขั้นตอนที่ 2 และ 3 จะไม่ดำเนินการรับรองเอกสารให้ เช่น รัฐ/นครนิวยอร์ก แต่บางรัฐก็ไม่จำเป็นต้องผ่านสามารถดำเนินการในขั้นตอนที่ 2 และ 3 ได้เลย

    • ขั้นตอนที่ 2 นำสูติบัตรไปผ่านการรับรองจาก Office of the Secretary หรือ State Authentication ของรัฐที่ออกสูติบัตรให้ ท่านสามารถหาข้อมูลของหน่วยงานและสถานที่สำหรับส่งเอกสารไปรับรองได้ที่ (เลือกรัฐที่ออกเอกสารสูติบัตร)
นิวยอร์ก คอนเนทิคัต เมน  แมสซาชูเซตส์ นิวเจอร์ซีย์
นิวแฮมป์เชอร์ โอไฮโอ เพนซิลเวเนีย โรดไอแลนด์ เวอร์มอนต์

 

(ตัวอย่างเมื่อผ่านการรับรองจาก Office of the Secretary, New York แล้ว
จะมีใบสีขาว (ตามตัวอย่าง) ปิดทับหน้าใบ County Clerk หรือ US Birth Certificate)

    • ขั้นตอนที่ 3 นำใบสูติบัตรที่ผ่านการรับรองในขั้นตอนที่ 2 ไปผ่านการรับรองที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (Department of State, Authentication Office, Washington DC) ท่านสามารถหาข้อมูลของหน่วยงานและสถานที่สำหรับส่งเอกสารไปรับรองได้ที่ https://travel.state.gov/content/travel/en/records-and-authentications/authenticate-your-document/office-of-authentications.html

Physical Address:

Office of Authentications

U.S. Department of State

600 19th Street 

NW Washington, DC 20006

Mailing Address:

Office of Authentications U.S.

Department of State CA/PPT/S/TO/AUT

44132 Mercure Circle

PO Box 1206, Sterling

VA 20166-1206

 

(ตัวอย่างเมื่อผ่านการรับรองจาก Department of State, Authentication Office, Washington DC แล้ว
จะมีใบสีเหลือง (ตามตัวอย่าง) ปิดทับหน้าใบ Office of the Secretary)

 

ชมตัวอย่างขั้นตอนและอ่านรายละเอียดวิธิการของผู้ที่เคยส่งเอกสารไปผ่านการรับรองมาแล้ว คลิก

หมายเหตุ : ในกรณีที่สูติบัตรท้องถิ่นไม่ระบุชื่อโรงพยาบาลและที่อยู่ จะต้องขอเอกสารรับรองจากทางโรงพยาบาลเพื่อให้ทราบชื่อโรงพยาบาลเเละที่อยู่ของโรงพยาบาลส่งมาด้วย

     4. บัตรประจำตัวประชาชนไทยและหนังสือเดินทางไทยที่มีอายุใช้งานของบิดาและมารดา (ในกรณีที่บิดาหรือมารดาเป็นชาวต่างชาติให้ใช้ Identification Card และ Passport)

     5. ทะเบียนสมรส (หากบิดาและมารดาสมรสกัน)

  • กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรส ต้องกรอกแบบฟอร์มเพิ่มเติม ดังนี้
    • กรณีบุตรใช้นามสกุลบิดา กรอกแบบฟอร์ม "คำให้การของมารดา (กรณีบุตรนอกสมรส)" และ "บันทึกการสอบปากคำของมารดาและบิดา กรณีบุตรบอกสมรส (บุตรใช้นามสกุลบิดา)"
    • กรณีบุตรใช้นามสกุลมารดา กรอกแบบฟอร์ม "คำให้การของมารดา (กรณีบุตรนอกสมรส)" 

     6. รูปถ่ายเด็ก 2x2 นิ้ว จำนวน 2 ใบ

     7. เอกสารแสดงถิ่นพำนักในปัจจุบัน เช่น ใบเรียกเก็บค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ จดหมายต่างๆ ที่ระบุชื่อและที่อยู่ของบิดา มารดา และผู้เเจ้ง 

     8. รายการเอกสารสำหรับการแจ้งเกิด (ดาวน์โหลด)

 

ขั้นตอนการยื่นขอใบสูติบัตรไทย

  1. กรุณาส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อนที่ e-mail: [email protected]
  2. เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว (ใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์) ท่านจึงสามารถนัดจองคิวเข้ารับบริการกับเจ้าหน้าที่โดยตรงที่หมายเลขโทรศัพท์ 212-754-1770 ext. 306 
  3. ไม่จำเป็นต้องนำบุตรมาแสดงตัวที่สถานกงสุลใหญ่ฯ
 

แบบฟอร์มคำร้องเพิ่มเติม

  • บันทึกการสอบปากคำมารดา กรณีบุตรนอกสมรส (ดาวน์โหลด)
  • บันทึกการสอบปากคำมารดาและบิดา กรณีบุตรนอกสมรส (เด็กใช้นามสกุลบิดา) (ดาวน์โหลด)
  • บันทึกการสอบปากคำ กรณีบุตรนอกสมรสไม่ประสงค์จะระบุชื่อบิดาในสูติบัตรไทย (ดาวน์โหลด)
  • บันทึกการสอบปากคำ กรณีชื่อหรือนามสกุลบิดา/มารดาในเอกสารไทยไม่ตรงกับสูติบัตรของทางการสหรัฐฯ (ดาวน์โหลด)
  • คำร้องขอแก้ไขรายการสูติบัตรและมรณบัตร (ดาวน์โหลด)
 
 
 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

โทร. 212-754-1770 ext. 306 

(ในวันและเวลาทำการของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก)

หรือ e-mail : [email protected]