บริการประชาชน
บริการประชาชน
ข้อมูลที่ต้องทราบก่อนการทำหนังสือเดินทางไทย
1. หนังสือเดินทาง (Thai Passport) มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ควรเก็บรักษาให้ดี ไม่ควรทำหายเพราะจะเกิดความยุ่งยาก เนื่องจากผู้ที่ทำหนังสือเดินทางสูญหายจะต้องดำเนินการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นของประเทศสหรัฐอเมริกาก่อน (สูญหายที่ไหนจะต้องแจ้งความที่นั้น) โดยผู้ร้องจะต้องนำใบแจ้งความจากสถานีตำรวจมาดำเนินการขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่
รวมถึงการขอทำเอกสารเดินทางฉุกเฉิน (Emergency Travel Document; ETD) ในกรณีที่ต้องการเดินทางด่วนเช่นกัน
2. หนังสือเดินทางสามารถทำเล่มใหม่ก่อนที่เล่มเก่าจะหมดอายุ 1 ปี เพราะการเดินทาง
ระหว่างประเทศจะต้องมีหนังสือเดินทางที่มีอายุเหลือไม่น้อยกว่า 6 เดือน
3. ผู้ร้องต้องเข้ามาทำหนังสือเดินทางด้วยตัวเองเท่านั้น เพราะต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ 10 นิ้ว
ถ่ายรูปใหม่ และสแกนม่านตา ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ
4. การทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ ทุกท่านจะต้องเข้าไปนัดวันจองคิวเพื่อขอรับบริการ
ทุกครั้ง (ยกเว้นผู้ที่มีอายุเกินกว่า 60 ปี ไม่ต้องลงทะเบียนจองคิว สามารถเดินทางมาเข้ารับบริการได้เลย)
5. ระยะเวลาการรอรับหนังสือเดินทางเล่มใหม่ขึ้นอยู่กับประเภทการรับเล่ม หากผู้ร้องเดินทาง
มารับเล่มด้วยตนเอง ใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ หากรับเล่มทางไปรษณีย์ ใช้เวลาประมาณ
4 สัปดาห์
6. ผู้ร้องจะต้องเตรียมซองเปล่าสำหรับการส่งเล่มกลับทางไปรษณีย์มาเอง(แนะนำให้ใช้แสตมป์ที่เป็นดวงตราไปรษณีย์เท่านั้น ไม่รับ metered stamp ที่ทางไปรษณีย์ปริ้นท์ให้ เนื่องจาก metered stamp จะระบุวันที่จัดส่ง ซึ่งบางทีหนังสือเดินทางเล่มใหม่ของผู้ร้องอาจไม่สามารถจัดส่งตามวันเวลาที่ metered stamp ระบุไว้) และจ่าหน้าซองถึงตนเองให้ชัดเจน ซองที่ใช้จะต้องเป็น USPS Priority Mail Express ขนาด 9-1/2"(L) x 12-1/2"(W) เท่านั้น
7. ในการทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ จะต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงที่ยังมีอายุการใช้งานอยู่ ในกรณีที่บัตรประจำตัวประชาชนของท่านหมดอายุ สูญหาย หรือมีการแก้ไขข้อมูลบนบัตร ท่านสามารถขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใบใหม่ได้ที่สถานกงสุลใหญ่ฯ เช่นกัน โดยสามารถรอรับบัตรประจำตัวประชาชนใบใหม่ได้เลย ทั้งนี้ ท่านจะต้องจองคิวทำบัตรประจำตัวประชาชนแยกต่างหากจากการจองคิวทำหนังสือเดินทาง ดังนั้น เพื่อความสะดวกของท่าน ขอให้จองคิวทำบัตรประจำตัวประชาชนและหนังสือเดินทางในวันเเละช่วงเวลาเดียวกัน ในกรณีที่ไม่สามารถนำบัตรประจำตัวประชาชนมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้ ท่านสามารถใช้สำเนาของบัตรประจำตัวประชาชน
ที่ยังไม่หมดอายุแทนบัตรประชาชนตัวจริงได้ (คลิก...อ่านวิธีการทำบัตรประจำตัวประชาชน)
8. กรุณาจัดเตรียมค่าธรรมเนียมให้พอดี (ชำระเป็นเงินสดเท่านั้น)
9. การออกหนังสือเดินทางจะออกตามข้อมูลในบัตรประชาชน จะไม่ออกตามหนังสือเดินทาง
เล่มเดิม
10. การเปลี่ยนนามสกุลหลังการสมรสหรือหย่า จะต้องแก้ไขในทะเบียนราษฏร์ก่อน โดยจะต้องดำเนินการแก้ไขที่อำเภอหรือเขต โดยทำใบมอบอำนาจให้คนที่เมืองไทยเดินทางไปแก้ไข
ที่เขตหรืออำเภอ หรือจะเดินทางกลับไปแก้ไขด้วยตัวเอง เมื่อแก้ไขเสร็จแล้วก็ดำเนินการทำ
บัตรประจำตัวประชาชนใบใหม่ได้ทันที
11. ผู้ที่เกิดในต่างประเทศจะมีสิทธิขอหนังสือเดินทางได้ 1 ครั้งเพื่อที่จะเดินทางกลับประเทศไทย เอาชื่อเข้าในทะเบียนบ้านและทำบัตรประจำตัวประชาชน ถ้าดำเนินการขอหนังสือเดินทางเล่มแรกไปแล้วแต่ไม่เดินทางกลับเมืองไทยเพื่อนำชื่อเข้าทะเบียนบ้านให้เรียบร้อย ก็จะไม่สามารถทำหนังสือเดินทางเล่มที่ 2 ให้ จนกว่าจะนำชื่อเข้าทะเบียนบ้านและ นำเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักมาแสดงเพื่อขอมีหนังสือเดินทางไทยเล่มที่ 2 ต่อไป
12. ผู้ร้องอายุเกิน 7 ปี บริบูรณ์ และเคยมีหนังสือเดินทางไทยแต่ยังไม่เคยทำบัตรประจำตัวประชาชนไทย ท่านจะไม่สามารถทำหนังสือเดินทางเล่มต่อไปได้ โดยท่านจะต้องเดินทางกลับ
ไปติดต่อขอทำบัตรประชาชนใบแรกที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตในประเทศไทยให้เรียบร้อยก่อน ทั้งนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ สามารถออกเอกสารเดินทางฉุกเฉิน หรือ Emergency Travel Document (ETD) ให้ท่านเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเดินทางกลับประเทศไทยได้ NEW!
วัน-เวลาให้บริการกงสุล:
จันทร์ – ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดราชการ)
เวลา 10.00 น. – 12.00 น. และ 13.00 น. – 15.30 น.
โทรศัพท์ (+1) 212-754-1770 ext. (ติดต่อเรา) ,
(+๑) ๖๔๖-๘๔๒-๐๘๖๔ (สายด่วนเพื่อคนไทย นอกเวลาราชการ)